Thursday, May 19, 2011

หลวงกัลยาณมิตตาวาส(ทับ พาทยโกศล)


ประวัติส่วนตัวของหลวงกัลยาณมิตตาวาสนั้นไม่มีใครบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์ อักษร มีแต่เล่ากันต่อๆ มา จึงเลือนไปเสียส่วนใหญ่และบางตอนก็ความไม่ตรงกัน เท่าที่มีหลงเหลือจนปัจจุบันก็ไม่ครบถ้วน หลวงกัลยาณมิตตาวาส ชื่อเดิมว่า ทับ บิดามารดาชื่ออะไร ไม่มีใครทราบ สกุลเดิมคือ ชูสัตย์ พื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่อยุธยา แต่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณรัชกาลที่ ๒ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หลังวัดกัลยาณมิตร ในบริเวณที่ดินของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ครั้งหนึ่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา เคยคิดจะให้ครูทับ เป็นเจ้าภาษีซุง เพื่อให้ร่ำรวยขึ้นบ้าง ทำอยู่ได้ ๒-๓ ปี แต่ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาเลย เพราะท่านเป็นคนตรงและใจอ่อน จึงเลิกเสีย และหันมายึดอาชีพทำพิณพาทย์เพียงอย่างเดียว ครูทับได้เป็นเจ้ากรมของวัดกัลยาณมิตร นับตั้งแต่นั้นมาผู้คนจึงมักเรียกท่านว่า “เจ้ากรมทับ”

ท่านมีพี่น้อง ๔ คน รวมทั้งตัวท่านด้วย ที่เป็นชายมีชื่อ วัน กับ จอน และเป็นหญิงชื่อ คอน ท่านเจ้ากรมทับ ถึงแก่กรรมเมื่อประมาณปี พ.ศ ๒๔๖๒ ท่านมีภรรยา ๓ คน ชื่อ แสง นวล และสุข ภรรยาที่ชื่อ แสง เป็นไทยอิสลาม มีบุตรหญิง ชื่อ หนู และบุตรชายชื่อ ทั่ว บุตรหญิงนั้นได้สมรสกับนายชื่น สุนทรวาทิน น้องชายของพระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม) มีบุตรชายหญิงชื่อ ฉัตร ช่อ และชั้น ซึ่งมีฝีมือทางดนตรีถึงขั้นเป็นครูทุกคน

ส่วนบุตรชายที่ชื่อ ทั่ว นั้น ก็คือครูดนตรีฝีมือเยี่ยม ซึ่งเรียกขานกันว่า “จางวางทั่ว” ผู้สืบสกุลพาทยโกศล ต่อมานั่นเอง และเป็นผู้ที่มีบุตรชายหญิงฝีมือดนตรีดีมาก คือ นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และคุณหญิงไพทูรย์ กิตติวรรณ ตัวคุณแม่แสงเอง ก็เป็นนักดนตรีที่มีความชำนาญทางเครื่องสาย โดยเฉพาะจะเข้ จนกระทั่งได้เป็นครูดนตรีของเจ้านายในราชสำนักหลายพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากนั้นยังมีฝีมือทางเหลาลูกระนาด และประดิษฐ์เครื่องดนตรีอีกด้วย ภรรยาที่ชื่อนวล มีบุตรชายอยู่เพียงคนเดียวชื่อ แมว หรือละม้าย พาทยโกศล ซึ่งเป็นนักดนตรีมีฝีมือทางเครื่องหนังเป็นเยี่ยม รู้จักกันในนามว่า “ครูแมว เครื่องหนัง” ส่วนภรรยาที่ชื่อ สุข นั้น เข้าใจว่าไม่มีบุตรด้วยกัน

เจ้ากรมทับ เป็นผู้สืบสกุลนักดนตรีมาแต่เดิม เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือมาก สามารถเล่นดนตรีได้ทุกชนิด แต่ชำนาญทางซอสามสายเป็นพิเศษ หลังจากที่ท่านเลิกทำอาชีพเป็นเจ้าภาษีซุงแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ได้พาท่านไปประจำวงพิณพาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช(วังบูรพา) อยู่ระยะหนึ่งแล้วเลิกไป นอกจากนั้นยังรับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำบ้าน ของ พระยาภาสกรวงศ์อีกด้วย

ในทางส่วนตัว เจ้ากรมทับ เป็นครูที่เอาจริงเอาจังกับการสอนมาก คอยเคี่ยวเข็ญให้ศิษย์ท่องจำและฝึกดนตรีจนจำแม่น ถ้าใครต่อเพลงไม่ได้ดังใจนึก ก็ถึงขนาดลงโทษรุนแรง เช่น เอาธูปจี้หลัง เป็นต้น เป็นเหตุให้บรรดาลูกศิษย์กลัวเกรงเป็นอันมาก ศิษย์ของท่านเจ้ากรมทับ เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ครูฉัตร ครูช่อ ครูแมว เป็นต้น

ท่านเจ้ากรมทับเปลี่ยนจากนามสกุล ชูสัตย์ เป็น “พาทยโกศล” ตามที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานก่อนที่จะแก่กรรมไม่กี่ปี นับเป็นนามสกุลที่เหมาะมาก เพราะลูกหลานก็ได้รับสืบทอดมรดกทางดนตรีทั้งในเชิงวิชาการ ในทางปฏิบัติ และในส่วนเครื่องดนตรีต่อมาอีกหลายชั่วคน จนกระทั่งปัจจุบันนี้

คุณย่าอัญชัญ ปิ่นทอง (อักษรทับ)

ครูอัญชัญ ปิ่นทอง (อักษรทับ) เกิดในครบครัวที่มีเชื้อสายนักดนตรีมาหลายชั่วคน นามสกุลเดิมอักษรทับ
  • บิดาชื่อ รอด อักษรทับ เป็นคนระนาดเอกประจำวงปี่พาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีรามาศวร์ (วงบางคอแหลม)
  • มารดาชื่อ ชั้น สกุลเดิม สุนทรวาทิน ครูอัญชัญเป็นหลานตาของนายชื่อและนางหนู สุนทรวาทิน นายชื่อ เป็นลูกของครูช้อยและเป็นน้องชายแท้ ๆ ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สนทรวาทิน) ส่วนนางหนูผู้เป็นยายของครูอัญชัญนั้น เดิมนามสกุลพาทยโกศล เป็นบุตรีของหลวงกัลยาณมิตตาวาส และเป็นพี่สาวแท้ ๆ ของท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ครูอัญชัญ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ คุ้มเจ้าหลวงนครเชียงใหม่ โดยที่ในขณะนั้นบิดาและมารดาได้มาเป็นนักดนตรีประจำอยู่ที่นั้น

มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวมทั้งตัวครูด้วย ๘ คน
  • พี่สาวคนโตชื่อ เฉิด อดีตเป็นครูสอนเครื่องสายอยู่ที่โรงเรียนราชินี เคยเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงวงดนตรีวังบางขุนพรหมพร้อม ๆ กับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ
  • พี่ชายคนต่อมาชื่อ โชติ เป็นผู้ชำนาญเครื่องหนัง
  • พี่สาวชื่อชิ้น (ประจงแสงศรี) เป็นเครื่องสาย
  • คนที่ ๔ คือ ครูอัญชัญ
  • น้องชาย ๒ คน มีชื่อว่า เช็คและชอลค์ ชำนาญด้านปี่พาทย์ทั้งคู่
  • น้องสาวชื่อ เฉลิมศรี (หรหมสุวรรณ) เป็นนักร้อง
  • น้องชายคนสุดท้องชื่อ ดำรงค์ เป็นปี่พาทย์และเครื่องหนัง

เมื่อเด็กได้เรียนหนังสือในคุ้มจนอ่านออกเขียนได้ แล้วเริ่มหัดดนตรีกับบิดามารดา มาตั้งแต่อายุ ๘ ปี โดยช่วยตีฉิ่ง ตีกรับ และเป็นลูกคู่ ขับร้องเพลงประกอบการแสดงละคร ต่อมาได้เรียนจะเข้ ซอด้วง ซออู้ จากเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่

เมื่อโตเป็นสาว บิดาให้ไปอยู่ที่บ้านท่านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล ณ ตำบลวัดกัลยาณ์ กรุงเทพมหานคร จึงได้เป็นศิษย์เรียนขับร้อง จากคุณแม่เจริญ พาทยโกศล (หม่อมเจริญ กุญชร ณ อยุธยา) และต่อเพลงจากคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ด้วย ระหว่างที่อยู่เชียงใหม่ก็เป็นช่างฟ้อน จึงมีความรู้ดีทั้งกระบวนเพลงและกระบวนรำ เครื่องดนตรีที่บรรเลงได้ถนัดที่สุดคือ จะเข้

เริ่มเป็นครูถ่ายทอดวิชาทางด้านดนตรีให้แก่ชาวเชียงใหม่ เมื่ออายุได้ ๓๐ ปี โดยเป็นครูสอนขับร้องและดนตรีที่โรงเรียนพีสี โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคพายัพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนทั้งเครื่องสาย ขับร้อง ฟ้อนรำ และควบคุมวง พาศิษย์ออกแสดงทางวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๘ ลำปาง อยู่เสมอ ศิษย์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ไพโรจน์ บุญผูก เป็นต้น

ทางด้านชีวิตครอบครัว ครูอัญชัญ สมรสกับ ร.ท.วิชิต ปิ่นทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีบุตรีคนโตชื่อ วัลลีย์ และบุตรชายชื่อ ทวีศักดิ์ ทั้งสองคนเป็นนักดนตรีไทย สำหรับนายทวีศักดิ์นั้นสอนดนตรีอยู่ที่วิทยาลัยครู จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันนี้ ครูอัญชัญ เกษียณอายุราชการแล้วพักอยู่กับบุตรชายที่วิทยาลัยครูจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงสอนดนตรีและขับร้องอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สอนเป็นประจำอย่างแต่ก่อน ผลงานการบันทึกเสียงก็มีอยู่บ้าง คือ เคยร่วมวงกับญาติมิตร คณะสุนทรวาทินอัดแผ่นเสียง เพลงฟ้อนเมืองเหนือ และเพลงไทยอีกหลายเพลงกับห้าง ต.เง็กชวน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕-พ.ศ. ๒๔๘๔ ครูอัญชัญใช้เวลาในการสอนดนตรีไทยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มาตลอด นับได้ว่าเป็นครูดนตรีไทยคนสำคัญคนหนึ่ง

ฉัตร สุนทรวาทิน (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๖)

นายฉัตร สุนทรวาทิน เกิดเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ บ้านตระกูลพาทยโกศล บริเวณหลังวัดกัลยาณมิตร เป็นบุตรของนาชื่น สุนทรวาทิน (น้องชายพระยาเสนาะดุริยางค เช่ม สุนทรวาทิน) และนางหนู ซึ่งเป็นน้องแท้ๆ ของจางวางทั่ว พาทยโกศล เมื่อเด็กได้เติบโตมาในบ้านของตระกูลพาทยโกศล จึงเป็นศิษย์ของครูทองดี ชูสัตย์ หลวงกัลยามิตรตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และได้เรียนดนตรีกับท่านจางวางทั่ว ผู้เป็นน้าด้วย มีน้องชายร่วมบิดามารดา เป็นนักดนตรีฝีมือดี ชื่อช่อ สุนทรวาทิน เนื่องจากมีเชื้อสายดนตรีมาแต่กำเนิด จึงมีความสามารถในทางดนตรีดี มาแต่อายุยังน้อย เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหาร ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงได้เข้ารับราชการในกองดุริยางค์กองทัพเรือ ตั้งแต่เป็นพลทหาร จนได้เป็นจ่าโท สามารถเรียนโน๊ตนากลได้อย่างแตกฉาน ทั้งอ่าน ทั้งเขียนได้คล่องแคล่วมีความรู้ในเพลงการ เพลงประกอบการแสดง โขนละคร หุ่นกระบอก เป็นอย่างดี ได้เพลงทั้งทางเครื่องและทางร้องมาก ด้วยใกล้ชิดกับคุณแม่เจริญ พาทยโกศล และเล่นดนตรีด้วยกันมาเป็นเวลานาน พ.ศ. ๒๔๕๘ ไดัแต่งงานกับหญิงไทยอิสลามชื่อ เชื้อ บ้านอยู่กุฎีขาว ธนบุรี มีบุตรชายคนโตชื่อเชิญ สุนทรวาทิน เป็นนักดนตรีไทย ชำนาญทางเครื่องหนัง กับบุตรอีก ๒ คนชื่อ ชดช้อย และช้องมาศ ซึ่งเป็นนักดนตรีและนักร้องตามลำดับ นายฉัตร นอกจากจะมีน้องชายเป็นนักดนตรีมีฝีมือ คือนายช่อ ยังมีพี่สาวชื่อชั้นเป็นนักดนตรีและนักร้อง ซึ่งได้ย้ายตามสามี (ชื่อนายรอด อักษรทับ) ขึ้นไปอยู่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ พี่น้องทั้ง ๓ รวมทั้งพี่เขย รวมเป็น ๔ คน ได้เป็นกำลังในการปลูกฝังดนตรีไทยให้แก่ชาวเชียงใหม่มาตั้งแต่ครั้งนั้น โดยเริ่มสอนในคุ้มเจ้าครองนคร และบ้านเจ้าแก้วนวรัตน์ ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงละคร โขน หุ่นกระบอก ละครร้อง แบบปรีดาลัย ฯลฯ ช่วยสอนอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงลากลับกรุงเทพฯ และได้ไปเป็นครูสอนให้แก่วงดนตรีของตระกูลเกิดผล ณ บ้านใหม่ อยุธยา จนตั้งเป็นวงปี่พาทย์ที่มีความสามารถสูงวงหนึ่ง ศิษย์คนสำคัญคือ กำนันสำราญ เกิดผล กำนันสำเริง เกิดผล เป็นต้น นายฉัตรย้อนกลับไปอยู่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้จับสั่นที่จังหวัดลำปาง ในปีเดียวกันนั้น รวมอายุได้ ๕๐ ปี.

เรียบเรียงจากบทความ "สยามสังคีต" ของนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล คำบอกเล่าของนายสังเวียน เกิดผล และคำบอกเล่าของชดช้อย เกิดใจตรง

นายรอด อักษรทับ และ นางชั้น อักษรทับ (คุณปู่ทวดกับคุณย่าทวดของฉัน)

นายรอด อักษรทับ มือระนาดเอก ฆ้องวง แห่งวงวังบางคอแหลม ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์ของพลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงโปรดสนับสนุน

ครูรอด อักษรทับ สมรสกับครูชั้น (สุนทรวาทิน) มีบุตรธิดา ๘ คน
1.พี่สาวคนโตชื่อ เฉิด ปัจจุบัน เป็นครูสอนเครื่องสายอยู่ที่โรงเรียนราชินี เคยเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงวงดนตรีวังบางขุนพรหมพร้อม ๆ กับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ
2.พี่ชายคนต่อมาชื่อ โชติ เป็นผู้ชำนาญเครื่องหนัง
3.พี่สาวชื่อชิ้น (ประจงแสงศรี) เป็นเครื่องสาย
4.ครูอัญชัญ
5.เช็ค  ชำนาญด้านปี่พาทย์
6.ชอลค์  ชำนาญด้านปี่พาทย์
7.น้องสาวชื่อ เฉลิมศรี (หรหมสุวรรณ) เป็นนักร้อง
8.น้องชายคนสุดท้องชื่อ ดำรงค์ เป็นปี่พาทย์และเครื่องหนัง

ครอบครัวของครูรอด อพยพจากกรุงเทพฯ โดยเดินเท้ามาตามทางรถไฟ ในสมัยที่ยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อถึงจังหวัดลำปาง ได้เข้าเฝ้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูสอนปี่พาทย์และดนตรีไทย นายรอดและนางชั้นได้แต่งทำนองเพลงให้กับครูผู้สอนฟ้อนรำในคุ้ม ได้แก่ เพลงฟ้อนน้อยไจยา เพลงฟ้อนเงี้ยว เพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เพลงฟ้อนระบำซอ เพลงละครเรื่องพระลอตอนต่างๆ

ครอบครัวของครูรอด อพยพต่อมาจนถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในสมัยเจ้า อินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ โดยได้เข้ามาสอนดนตรีในคุ้มของเจ้าหลวง นอกจากนั้นยังมีครูดนตรีท่านอื่นๆที่มาจากกรุงเทพฯพร้อม มาสอนในคุ้มของเจ้าหลวงเช่นกัน คือนายฉัตรและนายช่อ สุนทรวาทิน ซึ่งเป็นน้องชายของครูชั้น อักษรทับ (สุนทรวาทิน) ทั้ง 4 ท่านถือเป็นกำลังในการปลูกฝังดนตรีไทยให้แก่ชาวเชียงใหม่มาตั้งแต่ครั้งนั้น โดยเริ่มสอนในคุ้มเจ้าครองนคร และบ้านเจ้าแก้วนวรัตน์ ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงละคร โขน หุ่นกระบอก ละครร้อง แบบปรีดาลัย ฯลฯ 

ครูรอด อักษรทับ เป็นผู้คิดคำร้องกับทำนองซอเงี้ยว
"ฟ้อนเงี๊ยว" เป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยพระราชดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยทรงมอบหมายให้ครูหลง บุญชูหลง ร่วมกับครูฟ้อนในคุ้มคิดท่ารำ

ท่ารำของฟ้อนเงี้ยวส่วนหนึ่งเป็นการฟ้อนที่เข้ากับบทร้อง หรือคำร้องที่เรียกว่า "รำตีบท" ซึ่งเพลงร้องตอนแรกเริ่ม จะทอดเสียงยาวว่า
"เขี้ยวลายสารโถ่ (ถั่ว) ต้มเน้อ
พี่บ่หย่อน เมียงนาง น้องโลม
ยาลำต้มโตยสู พี่เมา แหล่"


 
จากนั้นจะเป็นคำร้อง ทำนองซอเงี้ยวว่า

"อะโหลโลโล ไปเมืองโก โตยพี่เงี้ยว
หนทางคดเลี้ยว ข้าน้อง จะเหลียวถาม
หนทางเส้นนี้ เปนถนน ก็เมืองพาน
เฮยพ่อเฮย ผ้าสีปูเลย พาดเกิ่งตุ๊มเกิ่ง
เสเลเมา บ่าเดี่ยว เปิ๊กเซิก็
ข้ามน้ำเลิก็ ก็บ่ได้ขอด สายถง
หนามเก๊ดเก๊า มาจ่องมาขน ก็แมวโพง
ต๋าวันลง เจ้นจะแผว ต๋าฝั่ง
เสเลเมา บ่าเดี่ยว ป๊อกซ็อก
เหล้นพ้ายป๊อก ก็เส(เสีย) ตึงลูกตึงหลาน
เหล้นไปแถมหน้อย ก็เส(เสีย) ตึงปิ่นตึงลาน
เนาะพี่เนาะ จะขี่เฮือเหาะ ขึ้นบนอากาศ
อะโหลโลโล ส้มบ่าโอ จิน้ำพริก
เหน็บดอกปิ๊กซิก มาแป๋งตาเหลือก ตาแล
ไปทางปู๊น เป๋นประตู ก็ท่าแพ
งานนักแก อะโหลโลโล แม่ฮ้างแม่หม้าย"

นอกจากการรำตีบท ยังมีการรำเข้ากับจังหวะ และระหว่างที่ดนตรีบรรเลง มีการแปรรูปขบวนด้วยลีลาที่สนุกสนาน สำหรับดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงมีทั้งวงกลองเต่งถิ้งหรือใช้วงปี่พาทย์ และอาจใช้กลองมองเซิงประกอบจังหวะด้วยเพื่อนความสนุกสนาน
ส่วนการแต่งกายมีทั้งแต่งกายแบบไทใหญ่และแต่งกายแบบพม่า การแต่งการแบบไทใหญ่จะนุ่งกางเกงเป้ากว้าง ขายาวครึ่งแข้งสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอกสีน้ำเงิน มีผ้าโพกศีรษะ และมีเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ข้อเท้า และการแต่งกายแบบพม่า นิยมนุ่งโสร่งตาหมากรุกแบบลอยชาย หรือโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนกระบอกหรืออาจเป็นเสื้อปัด มีผ้าโพกศีรษะและเครื่องประดับตามความเหมาะสม

กระบวนการ “ฟ้อนเงี้ยว” แบบราชสำนักเชียงใหม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ส่วนที่เป็นการแสดงจากกรมศิลปากรเป็นฟ้อนที่ได้รับการปรับปรุง โดยคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ซึ่งใช้เป็นหลักสูตร อบรมครู พ.ม. ซึ่งมีเนื้อเพิ่มเติมว่า

"ขออวยชัย พุทธิไกร ช่วยค้ำ
ทรงคุณเลิศล้ำ ไปทุกทั่ว ตัวตน
จงได้รับ สรรพมิ่งมงคล
นาท่านนา ขอเทวา ช่วยรักษาเถอะ
ขอหื้ออยู่ สุขา ด้วยธรรมานุภาพเจ้า
เทพดาช่วยเรา หื้อเป็นมิ่งมงคล
สังฆานุภาพเจ้า ช่วยแนะนำตน
สรรพมิ่งทั่วไปเนอ มงคล
เทพดาทุกแห่งหน ขอบันดาลช่วยค้ำจิ่ม
มงแซะ มงแซะ แซะมง ตะลุ่มตุ่มมง"


ไม่ว่าจะเป็นฟ้อนเงี่ยวแบบดั้งเดิม หรือแบบปรับปรุงก็มีความสนุกสนานน่ารักและมีเสน่ห์เช่นกัน

วงดนตรีไทยในวัง สมัยรัชกาลที่ 5

ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ นั้นพบว่า การอุปถัมภ์วงดนตรีไทยปรากฏอยู่ตามวังของพระบรมวงศานุวงศ์เป็นหลัก เช่น  วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีครูคนสำคัญประจำวงคือพระประดิษฐ์ไพเราะ ( มีดุริยางกูร หรือ ครูมีแขก ) ครูเพ็ง ดุริยางกูร ศิษย์ที่มีชื่อเสียงจากวังหน้านี้อาทิเช่น ครูสิน ศิลปบรรเลง  ครูต้ม พาทยกุล   ครูแดง พาทยกุล  ครูทองดี ชูสัตย์  ครูถึก ดุริยางกูร เป็นต้น
  • วงวังหลวงสมัยรัชกาลที่ 5  ในสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร มีครูคนสำคัญคือ ครูช้อย สุนทรวาทิน ครูแปลก ( พระยาประสานดุริยศัพท์ )  ครูหม่อมผิว มานิตยกุล  ศิษย์คนสำคัญของวังนี้เช่น  เจ้าเทพกัญญา  บูรณพิมพ์  เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ 
  • วงวังหลวงและสวนดุสิต ในพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์  มีครูคนสำคัญของวังนี้เช่น  พระประดิษฐ์ไพเราะ ( ตาด )  หลวงเสนาะดุริยางค์  ( แช่ม ) ครูเฒ่าแก่จีบครูหม่อมส้มจีน บุนาค  ศิษย์จากวังนี้เช่น  เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์   คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิ์เศรณี ( นักร้อง )  ครูท้วม ประสิทธิกุล  เป็นต้น
  • วงวังบ้านหม้อ ในเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์  มี พระประดิษฐ์ไพเราะ ( ตาด ) เป็นครูควบคุมวง  ศิษย์คนสำคัญของวังนี้ได้แก่ หลวงบำรุงจิตเจริญ ( ธูป ศาสตรวิลัย )
  • วงกรมมหรสพ ม.ร.ว. หลาน กุญชร  ครูประจำวงนี้เช่น  หลวงเสนาะดุริยางค์ ( ทองดี )  ครูเหลือ  หม่อมเข็ม  ครูสิน สินธุนาคร  ส่วนศิษย์ของวงนี้อาทิเช่น  หม่อมเจริญ  พาทยโกศล  หม่อมมาลัย กุญชรฯ  หม่อมคร้าม กุญชรฯ  ขุนสมานเสียงประจักร ( เถา สินธุนาคร )  ครู เฮ้า  สินธุนาคร  ครูศุข ดุริยประณีต  ครูแป้น วัชโรบล  เป็นต้น
  • วงวังบูรพาภิรมย์    ในสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  ครูคนสำคัญประจำวังนี้คือพระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก ประสานศัพท์ )หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง )   ศิษย์ของวังนี้เช่น  ครูเพชร จรรย์นาฎ  ครูเผือก   นักระนาด  ครูลาภ ณ บรรเลง   ครูจางวางผาด  ครูสงัด ยมคุปต  ครูร้อยเอกโองการกลีบชื่นเป็นต้น
  • วงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์   มีครูสิน  สินธุนาคร    และครูเฮ้า สินธุนาครเป็นครูประจำวง
  • วงวังท่าเตียน  ในกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม   มีครูแปลก หรือ พระยาประสานดุริยศัพท์   กับครูปั้น  บัวทั่ง  เป็นครูประจำวง
  • วงวังสวนกุหลาบ  ในเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา       มีครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง ) ศิษย์คนสำคัญคือ ครูท้วม ประสิทธิกุล

    พลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
  • วงวังลดาวัลย์ และวังบางคอแหลม พลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงโปรดและสนับสนุนการดนตรีมาก ทรงมีวงดนตรีประจำวังที่เรียกว่า วงวังลดาวัลย์ ต่อมาเมื่อทรงสร้างวังขึ้นใหม่คือวังบางคอแหลมได้ย้ายนักดนตรีมาประจำที่วง นี้เป็นจำนวนมากแล้วตั้งชื่อว่า วงวังบางคอแหลม นักดนตรีส่วนใหญ่มาจาก วงวังบูรพาภิรมย์ มีหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นครูฝึกซ้อม มีจางวางผาด ปัญจโกวิทย์ เป็นผู้ควบคุมวง นักดนตรีในวงนี้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในยุคต่อมาเช่น
    • นายรวม พรหมบุรี - ระนาดเอก
    • เรืออากาศเอก โองการ กลีบชื่น - ฆ้องวงเล็ก
    • นายรอด อักษรทับ - ระนาดเอก ฆ้องวง
    • นายเผือด นักระนาด - ระนาดเอก
    • นางจิ้มลิ้ม ธนาคม - นักร้อง


          วงดนตรีวังบางคอแหลม ได้ชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดวงหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยหลวงประดิษฐไพเราะฯซึ่งเป็นครูผู้ควบคุมวง ได้แต่งเพลงขึ้นเป็นเอกลักษณ์สำคัญประจำวงไว้หลายเพลงอาทิเช่น เพลงแขกลพบุรีทางวังบางคอแหลม และ เพลงเชิดจีนทางวังบางคอแหลม เป็นต้น
  • วงวังเพชรบูรณ์  ในกรมหลวงเพชรบูรณ์อินทราชัย    ครูของวงนี้  คือ หม่อมมาลัย  กุญชรฯ  ศิษย์ของวงนี้ได้แก่  ครูท้วม  ประสิทธิกุล
  • วงวังหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6  มีพระยาประสานดุริยศัพท์ ( แปลก  ประสานศัพท์ ) และ พระยาเสนาะดุริยางค์  ( แช่ม  สุนทรวาทิน )  เป็นครูประจำวง
  • วงวังสวนสุนันทา ในพระสุจริตสุดามีครูพระสรรเพลงสรวง  เป็นครูประจำวง  และศิษย์ของวงนี้อาทิเช่น  ครูสุพัตรา  สุจริตกุล  ครูฉลวย  จิยะจันทร์  ครูทองดี  สุจริตกุล    ครูนิภา  อภัยวงศ์  เป็นต้น
  • วงวังบางขุนพรหม  ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตครูคนสำคัญของวงนี้คือจางวางทั่วพาทยโกศลครูเจริญ พาทยโกศล  ครูทองดี ชูสัตย์ ครูสังวาลย์ กุลวัลกี  ศิษย์จากวงนี้ได้แก่  ครูทรัพย์  เซ็นพานิช  ครูอาจ  สุนทร  ครูช่อ  สุนทรวาทิน  ครูฉัตร  สุนทรวาทิน  ครูเตือน พาทยกุล ครูฉ่ำ เกิดใจตรง  ครูแมว พาทยโกศล  ครูย้อย  ชูสัตย์  ร้อยเอกนพ  ศรีเพชรดี ครูพังพอน แตงสืบพันธ์  ครูเอื้อน  กรเกษม ครูเทวาประสิทธิ์  พาทยโกศล  คุณหญิงไพฑูรย์  กิตติวรรณ   เป็นต้น
  • วงวังหลวง  ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง ) เป็นครูประจำวง
  • วงมโหรีหญิงหลวง  มีพระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม  สุนทรวาทิน ) เป็นครูประจำวง  ศิษย์ของวงนี้มีอาทิ  คุณหญิงชิ้น  ศิลปบรรเลง ครูเจริญใจ  สุนทรวาทิน ครูแช่มช้อย  ดุริยพันธ์  ครูเลื่อน  ผลาสินธุ์  ครูสุดา  เขียววิจิตร  ครูศรีนาฎ  เสริมศิริ   เป็นต้น
จนถึงปัจจุบันนี้  ยังคงมีอีกสถานที่หนึ่งคือวังคลองเตยในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์  ซึ่งวังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อบ้านปลายเนิน “  นั่นเองก็ยังคงมีการเรียนการสอนดนตรีไทยอยู่อย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งส่งเสริม รักษาและ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ดนตรี และ นาฏศิลป์ไทยอยู่อย่างสม่ำเสมอ  วงดนตรีที่วังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อวงดนตรีบ้านปลายเนิน “ พระทายาทที่ดูแลสืบทอดปัจจุบันคือหม่อมเจ้าดวงจิตร์ จิตรพงศ์และหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์  เดิมทีนั้น  ครูมนตรี ตราโมท รับหน้าที่เป็นครูผู้สอน  แต่ในปัจจุบันนี้ ครู  สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ  เป็นผู้สอนตลอดมา   นักดนตรีที่มาฝึกซ้อมเป็นประจำอาทิ  เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  หม่อมเจ้ากรณิกา  จิตรพงศ์  ม.ร.ว. เอมจิตร จิตรพงศ์ ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์  ครูพูนทรัพย์  ตราโมท  ครูศิลปี  ตราโมท ครูบุญช่วย  โสวัตรและครู  ปิ๊ป  คงลายทอง  เป็นต้น

ในยุคที่หนึ่งนี้  จะพบว่ามีนักดนตรีที่เข้าสู่ระบบอุปถัมภ์อยู่ 2 กลุ่มคือนักดนตรีในอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ กับในระบบอุปถัมภ์ของเจ้าต่างกรม ถือได้ว่าเป็นยุคที่ดุริยกวี เกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น  ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทรงครองราชย์  พระองค์ท่านได้ทำนุบำรุงและส่งเสริมการดนตรีไทยให้เจริญรุ่งเรืองสูงสุด  ถือเป็นยุคทองของดนตรีไทยทีเดียว  ในรัชสมัยของพระองค์นั้น  มีนักร้องนักดนตรีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์   มีราชทินนามเกิดขึ้นมากมาย    นักดนตรีไทยที่เรานับเป็นดุริยกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ที่เป็นที่เคารพนับถือของนักดนตรีไทยในปัจจุบันได้แก่ พระยาประสานดุริยศัพท์  ( แปลก ประสานศัพท์ )  พระยาเสนาะดุริยางค์  ( แช่ม สุนทรวาทิน )  หลว  ( ศร  ศิลปบรรเลง ) พระยาภูมีเสวิน  ( จิตร  จิตตเสวีจางวางทั่ว  พาทยโกศล  ดุริยกวีในลำดับต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7   พระโอรสองค์ที่  74 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5     ผลงานสร้างสรรค์เพลงของพระองค์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ  เพลงราตรีประดับดาว ( เถา )  ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับแรกของพระองค์ที่ได้รับการถวายคำแนะนำจาก หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร  ศิลปบรรเลง )    และ หลวงไพเราะเสียงซอ  ( อุ่น ดูรยะชีวิน )  นอกจากนั้นก็มีเพลงเขมรลออองค์ ( เถา )   กับ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง  สามชั้น  ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงตลอดมา
งประดิษฐ์ไพเราะ


คุณย่าเฉิด อักษรทับ

แผ่นเสียงโบราณที่บันทึกเสียงคอนเสิร์ต ในสมัยรัชกาลที่ 7
แผ่นเสียงยุคนี้ใช้ไฟฟ้าอัดที่ห้างสุธาดิลก (คือตึกกรมโยธาธิการ ที่ผ่านฟ้าปัจจุบัน)  คราวนี้อัดทั้งเพลงตับนางลอย  ตับพรหมาสตร์และตับนาคบาศ  ผู้ขับร้องและนักดนตรีทั้งหมดเป็นคณะพาทยโกศล  หรือคณะวังบางขุนพรหม  มีหม่อมเจริญซึ่งเคยอัดไว้ในครั้งแรกดังที่กล่าวมาแล้วเป็นหัวหน้า ร่วมด้วยนางสาวทูน   พาทยโกศล (ปัจจุบันคือ  คุณหญิงไพฑูรย์  กิตติวรรณ) มีนายอาจสุนทร  และจ่าอินทร์  อ๊อกกังวาล  ร้องตับนาคบาศ วงดนตรีควบคุมโดยท่านครูจางวางทั่วพาทยโกศล  บริษัทที่อัดคือพาร์โลโฟน  แห่งประเทศเยอรมนี นักร้องอื่นในชุดนี้  ยังมีนางสาวเฉิด  อักษรทับ  นางสาวเทียม  กรานเลิศ เป็นต้น  หมายเลขระหว่าง 18550 เรื่อยไปจนถึง 27508

ขับร้องเพลงตับเรียกตับมหาฤกษ์ ร่วมกับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ
เพลงมหาฤกษ์ เป็นเพลงหน้าพาทย์ เป็นเพลงอันดับที่ 2 ของเพลงเรื่องทำขวัญ ใช้ในกิจพิธีและงานมงคลทั่วไป ในพิธีไหว้ครูใช้บรรเลงช่วงท้ายของพิธี นอกจากนี้ยังใช้ประกอบการแสดงละครทั่วไป ในสถานการณ์ที่เกี่ยวกับฤกษ์งามยามดี เพลงมหาฤกษ์มี 2 ทำนองคือ ทำนองทางไทย ซึ่งเป็นเพลงทำนองเก่าอัตราจังหวะสองชั้น สมัยอยุธยา มี 2 ท่อน ใช้เป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบพิธีไหว้ครูและแสดงโขนละคร และประกอบพิธีดังกล่าวข้างต้น และทำนองทางฝรั่ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์ดัดแปลงจากทำนองทางไทยของเดิมให้มีจังหวะรุกเร้าเกิดความสง่า เพลงที่ทรงพระนิพนธ์นี้พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้ใช้เป็นเพลงเกียรติยศ ใช้ในโอกาสที่เกี่ยวกับฤกษ์พิธี หรือช่วงเวลาที่เหมาะสมและสำคัญที่สุดของงาน เช่น เมื่อประธานกล่าวเปิดงาน เปิดแพรคลุมป้ายชื่อโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานที่ประกอบการเริ่มเททองหล่อพระพุทธรูป เปิดอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ (ยกเว้นอนุสาวรีย์ซึ่งเป็นพระบรมรูปพระมหากษัตริยาธิราช ซึ่งจะต้องบรรเลงด้วยเพลงสรรเสริญ พระบารมี) การตัดลูกโป่งหรือการเจิมศิลาฤกษ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเพลงตับเรียกตับมหาฤกษ์ จัดเป็นเพลงบทมโหรี บทร้อง ตัดตอนมาจากบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ตอนอิเหนาได้ฤกษ์ ยกพลจากเมืองหมันหยาไปช่วยท้าวดาหารบกับท้าวกระหมังกุหนิง เพลงตับมหาฤกษ์นี้คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ เคยขับร้องเป็นต้นเสียง มีนางสาวเฉิด อักษรทับ และนางสาวสะอาด อ๊อกกังวาน (โปร่งน้ำใจ) เป็นลูกคู่ บันทึกเสียงของบริษัทพาโลโฟนเมื่อ พ.ศ. 2471 วงมโหรีวังบางขุนพรหมบรรเลง โดยมีจางวางทั่ว พาทยโกศล และ นางเจริญ พาทยโกศล ควบคุมวงดนตรีเพลงตับมหาฤกษ์ประกอบด้วยเพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เพลงม้าย่อง เพลงม้ารำและเพลงตุ้งติ้ง

คุณย่าเบอะ เฉลิมศรี พรหมสุวรรณ์ (อักษรทับ)

นางเฉลิมศรี พรหมสุวรรณ์ เป็นบุตร นายรอด อักษรทับ และนางชั้น สุนทรวาชิน เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 ที่คุ้มเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ (ธิดาเจ้าแก้วนวรัฐ ณ เชียงใหม่) ปัจจุบันพักอยู่ที่ 13/1 ถนนวิชยานนท์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053 - 252233
ครอบครัวของครูเฉลิมศรีมาจากกรุงเทพฯ โดยเดินเท้ามาตามทางรถไฟ ในสมัยที่ยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อถึงจังหวัดลำปาง ได้เข้าเฝ้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูสอนปี่พาทย์และดนตรีไทย นายรอดและนางชั้นได้แต่งทำนองเพลงให้กับครูผู้สอนฟ้อนรำในคุ้ม ได้แก่ เพลงฟ้อนน้อยไจยา เพลงฟ้อนเงี้ยว เพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เพลงฟ้อนระบำซอ เพลงละครเรื่องพระลอตอนต่างๆ ครูเฉลิมศรีเองก็ได้เรียน และฝึกซ้อมการฟ้อนพื้นเมือง ได้แก่ ละครรำ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนน้อยไจยา และละครรำ กับครูในคุ้ม ได้แก่ ครูหลง ครูพัชรี ครูเผือน หม่อมแส โดยเรียนตั้งแต่อายุประมาณ 5-6 ขวบ การเรียนในคุ้มจะเรียนและซ้อม ตลอดทั้งวัน หากมีงานด่วนก็จะต้องซ้อมจนถึงกลางคืน การกินอยู่จะอยู่ในคุ้มตลอด จนกระทั่งเจ้าแก้วนวรัฐสิ้นไปจึงย้ายออกมาอยู่ข้างนอก หลังจากจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์แล้ว พ.ศ.2500 ได้สอนที่โรงเรียน บูรณศิลป์ จนถึง พ.ศ.2507 ได้ย้ายไปสอนขับร้อง ฟ้อนรำที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และตั้งแต่ ปี 2517 เป็นต้นมา ได้สอนฟ้อนรำและควบคุมการแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่เรื่อยมา

ผลงานที่สำคัญของครูเฉลิมศรี และเกียรติคุณที่ได้รับ มีดังต่อไปนี้
- สอนฟ้อนพื้นเมืองที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517
- ประดิษฐ์ท่าฟ้อนชื่อ ฮ่มฟ้าบารมี โดยใช้เพลงของจรัล มโนเพ็ชร เป็นดนตรีประกอบ
- ประดิษฐ์ท่าฟ้อนรำระบำชาวเขา
- สอนฟ้อนที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา
- ฝึกหัดฟ้อนเงี้ยวให้คณะครูที่เข้ารับการอบรมที่ศูนย์การศึกษาภาค 8
- สอนฟ้อนชุมนุมลานนาให้สมาคมสตรีศรีลานนาไทย และได้รับพระราชทานเข็มกลัดอักษรพระนามย่อในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.2530
- สอนฟ้อนสาวไหมให้นางสาวอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ ก่อนเข้าประกวดนางสาวไทยในปีพ.ศ.2536 และได้สอนฟ้อนและร่วมฟ้อนหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันเปิดเรือนอนุสารสุนทร สถาบันราชภัฏเชียงใหม่
- ปี 2537 ช่วยฝึกซ้อมละครเรื่องสังข์ทอง ที่มหาวิทยาลัยพายัพ สอนฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ให้ชมรมพื้นบ้านล้านนา และได้รับเกียรติบัตรจากชมรม ในปีเดียวกันได้สอนฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาและฟ้อนกลายลายให้นักเรียนโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และช่วยฝึกซ้อมละครเรื่องพระลอ ให้นักเรียนโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สอนฟ้อนพิธีบายศรีสู่ขวัญให้คณะเจ้านายฝ่ายเหนือ เพื่อต้อนรับพระราชคันตุกะ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
- สอนพิเศษให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ นักเรียนการแสดงของศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว นักเรียนอนุบาลเชียงใหม่ และสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน ซึ่งอย่างหลังนี้ครูเฉลิมศรีได้รับโล่เกียรติคุณ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2539
- วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2539 เป็นกรรมการประกวดมหกรรมดนตรีพื้นบ้านล้านนาระดับโลก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีกาญจนาภิเษก และได้รับโล่เกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ได้รับโล่เกียรติคุณจากจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศิลปการแสดงพื้นบ้าน พ.ศ.2539
- ได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานคณะกรรมการคุรุสภาจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะครูดีเด่น สาขาครูภูมิปัญญาไทย พ.ศ.2544
- ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2539
- ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากอำเภอฮอดร่วมกับมูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2539
- ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2539
- ได้รับเกียรติบัตรจากโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ “วันเปิดโลกอนุบาล’39”

จางวางทั่ว พาทยโกศล (2428-2481)

จางวางทั่ว พาทยโกศล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2428 เป็นบุตรของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) กับนางแสง พาทยโกศล ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2481 รวมอายุ 57 ปี เป็นนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6

ประวัติ
บิดามารดาของท่านเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 5 จางวางทั่วจึงได้เรียนดนตรีจากบิดามารดา นอกจากนี้ก็ได้ศึกษากับครูคนอื่นๆ เพิ่มเติมจนมีฝีมือหาตัวจับได้ยาก โดยเฉพาะฆ้องวงและระนาดเอก
สมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้รับหน้าที่ควบคุมวงปี่พาทย์ของเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ต่อมา ถูกขอตัวมาอยู่ในวงปี่พาทย์กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในระหว่างนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งเป็นสมเด็จพระพี่นางเธอในกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็นจางวางในพระองค์ท่าน คนทั่วไปจึงเรียกว่า จางวางทั่ว ต่อมา ท่านได้รับคัดเลือกทำปี่พาทย์ถวายตัว โดยเป็นผู้ตีฆ้องวงเล็กแข่งขันได้ "ชั้นหนึ่ง" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิเงินเป็นบำเหน็จ
สมัยรัชกาลที่ 6 จางวางทั่วได้รับหน้าที่เป็นครูสอนเพลงไทย ประจำกองแตรวงทหารเรือ ต่อมาเป็นครูสอนประจำกองแตรวงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จน พ.ศ. 2475 ก็ลาออก อีกสองปีต่อมา ท่านได้แต่งเพลงชาติเป็นทำนองแบบไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการนำออกบรรเลงหลายครั้ง ต่อมาภายหลังมิได้ใช้ เพราะไปใช้ทำนองสากลแทน

ผลงาน
นอกจากฝีมือการเล่นดนตรีแล้ว ท่านยังได้แต่งเพลงอีกเป็นจำนวนมาก มีทั้งประเภทเพลงตับ และเพลงเกร็ดต่างๆ
  • ประเภทเพลงตับ ได้แก่ ตับลาวเจริญศรี (เป็นผู้เรียบเรียง), ตับชุดแขกไทร เป็นต้น
  • ประเภทเพลงเกร็ด ได้แก่ เขมรเอวบาง (เถา), เขมรพวง (เถา), เขมรปากท่อ (เถา), เขมรเขียว (เถา), แขกสาหร่าย (เถา),ดอกไม้ร่วง (เถา), โอ้ลาว (เถา), เขมรเหลือง (เถา), เขมรครวญ (เถา), เขมรน้อย (เถา), พม่าห้าท่อน (เถา), ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ ท่านยังมีผู้สืบเชื้อสายทางดนตรีที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ซึ่งเป็นบุตรธิดาของท่านเอง

แหล่งข้อมูลอื่น
สุดยอดคลิปการเล่นแผ่นเสียงเพลงไทยเดิมที่นักเรียนดนตรีไทยต้องดู เพราะนี่คือการรวมผลงานการประชันของครูดนตรีไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นการบันทึกเสียงลงบนจานเสียงสยามปาเต๊ะร่องกลับทาง ในชื่อเพลงทยอยนอก มะโหรี โดยมีครูเพลงที่เล่นและบันทึกลงแผ่นดังนี้ จางวางทั่วเล่นระนาด นายบัวเล่นซออู้ นายจักรเล่นซอด้วง นายชื่นบรรเลงขลุ่ย นายจันเล่นฆ้องเล็ก

ประวัติของจางวางทั่ว พาทยโกศล: เป็นบุตรของทับ พาทยโกศล และนางแสง พาทยโกศล เกิดวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2424 จังหวัดธนบุรี พาทยโกศลเป็นตระกูลนักดนตรีไทยเก่าแก่มาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ศึกษาดนตรีไทยจากครอบครัวคือ ปู่ทองดีและบิดา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปี่พาทย์ประจำวงของเจ้าคุณประภากรวงศ์ และเป็นคนซอสามสายที่มีชื่อเสียงมาก มารดาได้รับยกย่องเป็นผู้ดีดจะเข้ฝีมือชั้นครูดนตรีเจ้านายฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5

ผลงานของท่านในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตขอตัวมาประจำวง "ปี่พาทย์วงวังบางขุนพรหม" และได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันแสดงฝีมือตีฆ้องวง หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมวงกับนักดนตรีที่ชนะเลิศเครื่องมือต่างๆ ในครั้งนั้นรวม 8 คน ตั้งวงปี่พาทย์เครื่อง 5 ส่วนพระองค์และพระราชทานชื่อว่า "ปี่พาทย์ฤาษี" 



พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน พ.ศ. 2409-2492)

พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน พ.ศ. 2409-2492) เป็นนักดนตรีไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระยาเสนาะดุริยางค์เป็นบุตรคนโตของครูช้อย และนางไผ่ สุนทรวาทิน. ได้ฝึกฝนวิชาดนตรีจากครูช้อยผู้เป็นบิดา จนมีความแตกฉาน ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ได้ขอตัวมาเป็นนักดนตรีในวงปี่พาทย์ของท่าน. ท่านเข้ารับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2422 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนเสนาะดุริยางค์” ในปี พ.ศ. 2446 ตำแหน่งเจ้ากรมพิณพาทย์หลวงจึงโปรดให้เลื่อนเป็น “หลวงเสนาะดุริยางค์” ในปี พ.ศ. 2453 ในตำแหน่งเดิมจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนเป็น “พระเสนาะดุริยางค์” รับราชการในกรมมหรสพหลวง และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ด้วยความซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดี ท่านจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาเสนาะดุริยางค์” ในปี พ.ศ. 2468
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับมอบหมายให้ควบคุมวงพิณพาทย์ของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง วงพิณพาทย์วงนี้ นับได้ว่าเป็นการรวบรวมผู้มีฝีมือ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูผู้ใหญ่ เป็นที่รู้จักนับถือโดยทั่วไป เช่น ครูเทียบ คงลายทอง ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูสอน วงฆ้อง ครูมิ ทรัพย์เย็น ครูแสวง โสภา ครูผิว ใบไม้ ครูทรัพย์ นุตสถิตย์ ครูอรุณ กอนกุล ครูเชื้อ นักร้อง และครูทองสุข คำศิริ
ด้านครอบครัว ท่านสมรสกับ คุณหญิงเรือน เสนาะดุริยางค์ ซึ่งมาจากตระกูลมอญบางไส้ไก่ มีบุตร-ธิดา 4 คน คือ
  • คุณเลียบ บุณยรัตพันธุ์
  • คุณเลื่อน ผลาสินธุ์
  • นายเชื้อ สุนทรวาทิน
  • คุณเจริญใจ สุนทรวาทิน
และมีบุตร-ธิดา กับภรรยาท่านก่อนอีก 2 คน คือ
  • คุณช้า สุนทรวาทิน
  • นายเชื่อง สุนทรวาทิน
พระยาเสนาะดุริยางค์ ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2492 เมื่อมีอายุได้ 83 ปี

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Link : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C_(%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A1_%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%99)

คุณปู่ช่อ สุนทรวาทิน (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๐๐)

นายช่อ สุนทรวาทิน เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นบุตรคนสุดท้อง (คนที่ ๓) ของนายชื่น สุนทรวาทิน (น้องชายพระยาเสนาะดุริยางค์ แช่ม สุนทรวาทิน) และนางหนู (พี่สาวแท้ ๆ ของจางวางทั่ว พาทยโกศล) มีพีสาวคนหนึ่งชื่อชั้น (สุนทรวาทิน) อักษรทับ และพี่ชายชื่อฉัตร ทั้ง ๓ คนพี่น้องนี้เป็นนักดนตรีมีความสามารถสูงทุกคน เมื่อเด็กเรียนดนตรีจากครูทองดี ชูสัตย์ หลวงกัลยามิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าชายแท้ ๆ นับเป็นศิษย์ที่หลวงกัลยามิตตาวาส เคี่ยวเข็ญมามากที่สุดคนหนึ่ง จึงเป็นผู้มีความรู้ในทางดนตรีดีมาก รวมทั้งมีฝีมือดีมากด้วย สามารถเล่นดนตรีได้ดีทุกชนิด ยกเว้นปี่ ตีขิมเพราะมาก ตีระนาดก็เยี่ยม ที่ถนัดมากที่สุด คือ ฆ้องวง ซึ่งเคยชนะที่ ๑ ในการประชันพิณพาทย์ที่วังบางขุนพรหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยปกติเป็นคนสมองดี จำเพลงแม่น และได้เพลงมากจึงเป็นครูที่มีความรู้ความสามารถอย่างดีฝีมือฆ้องใหญ่ ซออู้ ขิม นั้น ดีมากที่สุดทั้ง ๓ ชนิด และเป็นคนฆ้องประจำวงปี่พาทย์บ้านวัดกัลยาณมิตรของครูจางวางทั่วมาตลอด เคยสอนดนตรีอยู่ในโรงเรียนราชินี สอนและควบคุมวงดนตรีบ้านใหม่อยุธยา ของนายสังเวียน เกิดผล มีศิษย์หลายคน อาทิ เช่น กำนันสำราญ เกิดผล นายวิเชียร เกิดผล ฯลฯ รวมทั้งได้มีส่วนปลุกฝังดันตรีไทยในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๖-พ.ศ. ๒๔๘๕ อีกด้วย ท่านแต่งงาน ๓ ครั้ง มีภรรยาชื่อ เล็ก ชื่อ วาด ซึ่งไม่มีบุตรสืบสกุล ส่วนคนที่ ๓ ชื่อ หอม มีบุตรีคนหนึ่ง สีซออู้เพราะมาก ชื่อ "หอมหวล" ท่านถึงแก่กรรมระหว่างงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ที่จังหวัดอยุธยาโดยอาเจียนเป็นโลหิต เพราะเป็นโรคปอด (วัณโรคเรื้อรัง) มานาน รวมอายุได้ ๖๑ ปั ได้ทำการฌาปนกิจศพที่วัดบำรุงธรรม อำเภอบ้านใหม่ จังหวัดอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑.

ที่มา : อารดา กีระนันท์ (เรียบเรียงจาก บทความ "สยามสังคีต" ของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล คำบอกเล่าของคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และคำบอกเล่าของนายสังเวียน เกิดผล.)
Link : http://mulinet3.li.mahidol.ac.th/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=dig&lang=0&db=MUSIC&pat=code&cat=aut&skin=u&lpp=16&catop=&scid=zzz&ref=A:@522&nx=1