Thursday, May 19, 2011

นายรอด อักษรทับ และ นางชั้น อักษรทับ (คุณปู่ทวดกับคุณย่าทวดของฉัน)

นายรอด อักษรทับ มือระนาดเอก ฆ้องวง แห่งวงวังบางคอแหลม ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์ของพลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงโปรดสนับสนุน

ครูรอด อักษรทับ สมรสกับครูชั้น (สุนทรวาทิน) มีบุตรธิดา ๘ คน
1.พี่สาวคนโตชื่อ เฉิด ปัจจุบัน เป็นครูสอนเครื่องสายอยู่ที่โรงเรียนราชินี เคยเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงวงดนตรีวังบางขุนพรหมพร้อม ๆ กับคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ
2.พี่ชายคนต่อมาชื่อ โชติ เป็นผู้ชำนาญเครื่องหนัง
3.พี่สาวชื่อชิ้น (ประจงแสงศรี) เป็นเครื่องสาย
4.ครูอัญชัญ
5.เช็ค  ชำนาญด้านปี่พาทย์
6.ชอลค์  ชำนาญด้านปี่พาทย์
7.น้องสาวชื่อ เฉลิมศรี (หรหมสุวรรณ) เป็นนักร้อง
8.น้องชายคนสุดท้องชื่อ ดำรงค์ เป็นปี่พาทย์และเครื่องหนัง

ครอบครัวของครูรอด อพยพจากกรุงเทพฯ โดยเดินเท้ามาตามทางรถไฟ ในสมัยที่ยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อถึงจังหวัดลำปาง ได้เข้าเฝ้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูสอนปี่พาทย์และดนตรีไทย นายรอดและนางชั้นได้แต่งทำนองเพลงให้กับครูผู้สอนฟ้อนรำในคุ้ม ได้แก่ เพลงฟ้อนน้อยไจยา เพลงฟ้อนเงี้ยว เพลงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เพลงฟ้อนระบำซอ เพลงละครเรื่องพระลอตอนต่างๆ

ครอบครัวของครูรอด อพยพต่อมาจนถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในสมัยเจ้า อินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ โดยได้เข้ามาสอนดนตรีในคุ้มของเจ้าหลวง นอกจากนั้นยังมีครูดนตรีท่านอื่นๆที่มาจากกรุงเทพฯพร้อม มาสอนในคุ้มของเจ้าหลวงเช่นกัน คือนายฉัตรและนายช่อ สุนทรวาทิน ซึ่งเป็นน้องชายของครูชั้น อักษรทับ (สุนทรวาทิน) ทั้ง 4 ท่านถือเป็นกำลังในการปลูกฝังดนตรีไทยให้แก่ชาวเชียงใหม่มาตั้งแต่ครั้งนั้น โดยเริ่มสอนในคุ้มเจ้าครองนคร และบ้านเจ้าแก้วนวรัตน์ ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงละคร โขน หุ่นกระบอก ละครร้อง แบบปรีดาลัย ฯลฯ 

ครูรอด อักษรทับ เป็นผู้คิดคำร้องกับทำนองซอเงี้ยว
"ฟ้อนเงี๊ยว" เป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยพระราชดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยทรงมอบหมายให้ครูหลง บุญชูหลง ร่วมกับครูฟ้อนในคุ้มคิดท่ารำ

ท่ารำของฟ้อนเงี้ยวส่วนหนึ่งเป็นการฟ้อนที่เข้ากับบทร้อง หรือคำร้องที่เรียกว่า "รำตีบท" ซึ่งเพลงร้องตอนแรกเริ่ม จะทอดเสียงยาวว่า
"เขี้ยวลายสารโถ่ (ถั่ว) ต้มเน้อ
พี่บ่หย่อน เมียงนาง น้องโลม
ยาลำต้มโตยสู พี่เมา แหล่"


 
จากนั้นจะเป็นคำร้อง ทำนองซอเงี้ยวว่า

"อะโหลโลโล ไปเมืองโก โตยพี่เงี้ยว
หนทางคดเลี้ยว ข้าน้อง จะเหลียวถาม
หนทางเส้นนี้ เปนถนน ก็เมืองพาน
เฮยพ่อเฮย ผ้าสีปูเลย พาดเกิ่งตุ๊มเกิ่ง
เสเลเมา บ่าเดี่ยว เปิ๊กเซิก็
ข้ามน้ำเลิก็ ก็บ่ได้ขอด สายถง
หนามเก๊ดเก๊า มาจ่องมาขน ก็แมวโพง
ต๋าวันลง เจ้นจะแผว ต๋าฝั่ง
เสเลเมา บ่าเดี่ยว ป๊อกซ็อก
เหล้นพ้ายป๊อก ก็เส(เสีย) ตึงลูกตึงหลาน
เหล้นไปแถมหน้อย ก็เส(เสีย) ตึงปิ่นตึงลาน
เนาะพี่เนาะ จะขี่เฮือเหาะ ขึ้นบนอากาศ
อะโหลโลโล ส้มบ่าโอ จิน้ำพริก
เหน็บดอกปิ๊กซิก มาแป๋งตาเหลือก ตาแล
ไปทางปู๊น เป๋นประตู ก็ท่าแพ
งานนักแก อะโหลโลโล แม่ฮ้างแม่หม้าย"

นอกจากการรำตีบท ยังมีการรำเข้ากับจังหวะ และระหว่างที่ดนตรีบรรเลง มีการแปรรูปขบวนด้วยลีลาที่สนุกสนาน สำหรับดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงมีทั้งวงกลองเต่งถิ้งหรือใช้วงปี่พาทย์ และอาจใช้กลองมองเซิงประกอบจังหวะด้วยเพื่อนความสนุกสนาน
ส่วนการแต่งกายมีทั้งแต่งกายแบบไทใหญ่และแต่งกายแบบพม่า การแต่งการแบบไทใหญ่จะนุ่งกางเกงเป้ากว้าง ขายาวครึ่งแข้งสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอกสีน้ำเงิน มีผ้าโพกศีรษะ และมีเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ข้อเท้า และการแต่งกายแบบพม่า นิยมนุ่งโสร่งตาหมากรุกแบบลอยชาย หรือโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนกระบอกหรืออาจเป็นเสื้อปัด มีผ้าโพกศีรษะและเครื่องประดับตามความเหมาะสม

กระบวนการ “ฟ้อนเงี้ยว” แบบราชสำนักเชียงใหม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ส่วนที่เป็นการแสดงจากกรมศิลปากรเป็นฟ้อนที่ได้รับการปรับปรุง โดยคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ซึ่งใช้เป็นหลักสูตร อบรมครู พ.ม. ซึ่งมีเนื้อเพิ่มเติมว่า

"ขออวยชัย พุทธิไกร ช่วยค้ำ
ทรงคุณเลิศล้ำ ไปทุกทั่ว ตัวตน
จงได้รับ สรรพมิ่งมงคล
นาท่านนา ขอเทวา ช่วยรักษาเถอะ
ขอหื้ออยู่ สุขา ด้วยธรรมานุภาพเจ้า
เทพดาช่วยเรา หื้อเป็นมิ่งมงคล
สังฆานุภาพเจ้า ช่วยแนะนำตน
สรรพมิ่งทั่วไปเนอ มงคล
เทพดาทุกแห่งหน ขอบันดาลช่วยค้ำจิ่ม
มงแซะ มงแซะ แซะมง ตะลุ่มตุ่มมง"


ไม่ว่าจะเป็นฟ้อนเงี่ยวแบบดั้งเดิม หรือแบบปรับปรุงก็มีความสนุกสนานน่ารักและมีเสน่ห์เช่นกัน

1 comment:

  1. รบกวนช่วยหาประวัติส่วนตัวของครูรอด อักษรทับ ให้ทีนะค่าว่าเกิดท่ไหนเมื่อไร พ่อเม่ชื่ออะไร...เนื่องจากว่าต้องในประกอบการทำรายงานค่า รบกวนด่วนๆๆๆค่า

    ReplyDelete